
เฟิร์นเงิน สรรพคุณและประโยชน์
เฟิร์นเงิน ชื่อสามัญ Silver lace fern, Sword brake fern, Slender brake fern
เฟิร์นเงิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Pteris ensiformis Burm. f. จัดอยู่ในวงศ์ PTERIDACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย PTERIDOIDEAE
สมุนไพรเฟิร์นเงิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เฟินเงิน เฟินแซ่เงิน เฟิร์นเงินใบเขียว (ไทย), เฟิ่งกวนเฉ่า เฟิงเหว่ยเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของเฟิร์นเงิน
ต้นเฟิร์นเงิน จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 15-60 เซนติเมตร ลักษณะเป็นกอ ก้านใบยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร แทงขึ้นมาจากรากใต้ดิน รากมีลักษณะกลมสั้น มีเกล็ด เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นสูง แสงแดดพอประมาณ และในสภาพดินโปร่ง
ใบเฟิร์นเงิน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกซ้อนกัน มีประมาณ 3-5 คู่ และจะแตกแฉกออกอีกถึง 1-3 คู่ ใบย่อยเป็นรูปรียาว เรียวแคบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ขอบใบมีทั้งแบนเรียบและใบที่เติบโตไม่สมบูรณ์จะเป็นแบบขอบหยักฟันเลื่อย บนใบจะมีสปอร์เป็นตุ่มติดอยู่ที่ขอบใบ แต่ใบเล็กจะไม่มีรังไข่ของสปอร์

สรรพคุณและประโยชน์ของเฟิร์นเงิน
- ทั้งต้นมีรสขมเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น แก้อาการร้อนใน แก้พิษ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ (ทั้งต้น)
- ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้บิดมูกเลือด (ทั้งต้น) ตำรับยาแก้บิด ให้ใช้เฟิร์นเงิน อึ่งแปะ เอี่ยบ๊วย อย่างละ 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการตกเลือดของสตรี (ทั้งต้น)
- ใช้รักษาตับอักเสบแบบดีซ่าน (ทั้งต้น)
- ใช้รักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน (ทั้งต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน