
ข้าวโพด ชื่อสามัญ Corn, Indian corn, Maize
ข้าวโพด ชื่อวิทยาศาสตร์ Zea mays Linn. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)
ข้าวโพด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวแช่ (แม่ฮ่องสอน), ข้าวสาลี เข้าสาลี สาลี (ภาคเหนือ), โพด (ภาคใต้), บือเคส่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เข้าโพด (ไทย), เป๊ากื่อ (ม้ง), แผละลี (ลั้วะ), ข้าวแข่ (เงี้ยว, ฉาน, แม่ฮ่องสอน), เง็กบี้ เง็กจกซู่ (จีน), ยวี่หมี่ ยวี่สู่สู่ (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของข้าวโพด
ต้นข้าวโพด จัดเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ในปัจจุบันมีการปลูกทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก ลำต้นนั้นมีลักษณะอวบกลมและตั้งตรงแข็งแรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร ผิวต้นเรียบ เนื้อภายในฟ่ามคล้ายกับฟองน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
ใบข้าวโพด ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ใบมีลักษณะเรียวยาวเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบมนและมีขนอ่อน ๆ สีขาว เส้นกลางใบมองเห็นได้ชัดเจน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-100 เซนติเมตร ส่วนก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น
ดอกข้าวโพด ออกดอกเป็นช่อ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ในต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อและออกที่ปลายยอด ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ต่ำถัดลงมา ออกระหว่างกาบของใบและลำต้น เรียงเป็น 2 แถว มีประมาณ 8-18 ดอก ดอกย่อยจะมีก้านเกสรเพศผู้จำนวน 9-10 ก้าน และมีอับเรณูสีเหลืองส้ม ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นบาง ๆ ยื่นออกมาเป็นจำนวนมาก คล้ายกับเส้นไหมจำนวนมาก (บ้างก็เรียกว่าหนวดข้าวโพด) โดยจะอยู่ระหว่างกาบใบและลำต้น และดอกเพศเมียเมื่อเจริญเติบโตแล้วก็จะออกเป็นฝักหรือเรียกว่าผล
ผลข้าวโพด ออกผลเป็นฝัก ผลถูกหุ้มไปด้วยกาบบาง ๆ หลายชั้น ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีนวล เรียกว่าเปลือกข้าวโพด ฝักมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดอยู่รอบฝักเรียงเป็นระเบียบรอบแกนกลางของฝัก เมล็ดจะเกาะอยู่เป็นแถวประมาณ 8 แถว แต่ละแถวจะมีประมาณ 30 เมล็ดและมีสีต่าง ๆ กัน เช่น สีนวล เหลือง ขาว หรือสีม่วงดำ

สรรพคุณและประโยชน์ของข้าวโพด
- เมล็ดมีรสหวานมัน ช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด)
- หากความจำเสื่อมหรือลืมง่าย ให้ใช้ยอดเกสรเพศเมียแห้งเอามาใส่ในกล้องยาสูบแล้วใช้จุดสูบ (เกสรเพศเมีย)
- เมล็ดช่วยบำรุงปอดและหัวใจ (เมล็ด)
- ยอดเกสรเพศเมียและฝอยข้าวโพดใช้เป็นยาแก้เบาหวาน ด้วยการใช้ยอดเกสรเพศเมียที่ตากแห้งแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เกสรเพศเมีย, ฝอย)
- ยอดเกสรเพศเมียหรือไหมข้าวโพดและฝอยข้าวโพดช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูง ตามตำรับยาจะใช้ยอดเกสรเพศเมียที่แห้งแล้ว เปลือกกล้วยแห้ง และเปลือกแตงโมแห้งอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เกสรเพศเมีย, ฝอย)
- ต้นและเมล็ดช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้น, เมล็ด)
- เกสรเพศเมียมีรสหวาน เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะลำไส้และทางเดินปัสสาวะ มีสรรพคุณขับความร้อนชื้น แก้อาการกระหายน้ำ (เกสรเพศเมีย)
- ช่วยแก้ไข้ทับระดู (ต้น)
- ช่วยแก้โลหิตกำเดา (เกสรเพศเมีย)
- หากตรากตรำทำงานหนัก มีอาการไอเป็นเลือดหรือตกเลือด ให้ใช้ยอดเกสรเพศเมีย นำมาต้มกับเนื้อสัตว์รับประทาน (เกสรเพศเมีย)
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ฝอย) รากและเมล็ดช่วยแก้อาการเจียน (ราก, เมล็ด) รากและเกสรเพศเมียช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นโลหิต ด้วยการใช้รากข้าวโพดแห้งประมาณ 60-120 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, เกสรเพศเมีย)
- ช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบ จมูกอักเสบเรื้อรัง (เกสรเพศเมีย)
- สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ โดยมีอาการเจ็บแปลบที่หน้าอกเพียงจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นซีกซ้ายหรือขวาก็ได้ และจะเจ็บเพียงชั่วขณะที่หายใจเข้าลึก ๆ ที่ปอดขยายตัวเต็มที่ เลยทำให้ส่วนที่อักเสบเกิดการเสียดสีกัน ถ้าเป็นเยื่อหุ้มปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสชนิดที่ไม่รุนแรงก็จะไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ แต่สำหรับอาการที่เห็นทั่วไปจะมีเหงื่อเย็น ๆ ออกจนเปียกข้างลำตัว ให้ใช้เกสรเพศเมีย 1 กิโลกรัม นำมานึ่งแล้วใช้พอกบริเวณปอด จะช่วยทำให้มีอาการดีขึ้น หรือจะนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ผลเช่นกัน (เกสรเพศเมีย)
- ช่วยแก้เต้านมเป็นฝี (เกสรเพศเมีย)
- ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร (เมล็ด)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน